วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กัลยาณมิตร



  ความมีกัลยามิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหาและบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี , ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อมสนับสนุน ชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ , สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ข้อนี้เป็นองค์ประกอบภายนอก
คำว่า “กัลยาณมิตร” แปลความหมายคำ “กัลยาณ” ว่า หมายถึง งาม, ดี และ “มิตร” หมายถึง เพื่อนรักใคร่ที่สนิทสนมคุ้นเคย ดังนั้น กัลยาณมิตร จึงมีความหมายว่า เพื่อนที่ดี, เพื่อนที่งาม หรือเพื่อนที่รักใคร่คุ้นเคยที่ดี, เพื่อนรักใคร่คุ้นเคยที่งาม

กัลยาณมิตร มิได้หมายถึงเพื่อนที่ดีตามความหมายทั่วไปเท่านั้น แต่เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม มีความตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่ของชาวพุทธที่ดี เพื่อยังประโยชน์ให้ถึงพร้อมทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ผู้สั่งสอนแนะนำ ชักนำไปในหนทางที่ถูกต้องดีงาม

เมื่อเราเป็นกัลยาณมิตรภายในให้กับตนเองแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับผู้อื่น โดยมีความสำนึกในหน้าที่อันสูงส่งนี้ว่า เป็นหน้าที่ที่มีเกียรติ มีค่าอย่างยิ่ง เป็นหน้าที่ของบัณฑิตและนักปราชญ์ทุกยุคทุกสมัย ต่างสรรเสริญและทำกันมาก่อนแล้วทั้งนั้น การทำหน้าที่กัลยาณมิตรภายนอก ทำได้โดย
  • ให้ความยิ้มแย้มแจ่มใส ให้ความสดชื่นเบิกบานใจกับทุกๆ คน
  • ให้ความเป็นมิตร ให้ความเป็นกันเอง ให้ความปรารถนาดีอย่างจริงใจกับทุกคน เป็นญาติยิ่งด้วยญาติ เป็นมิตรยิ่งด้วยมิตร
  • ให้คำแนะนำที่ดี ชี้หนทางที่ถูกให้เดิน ดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและเป็นไปเพื่อการสร้างบารมีอย่างแท้จริง
  • ให้อริยทรัพย์ แนะนำให้ทำบุญให้ถูกวิธีและถูกเนื้อนาบุญ เพื่อเปลี่ยนสามัญทรัพย์ให้เป็นอริยทรัพย์ติดตัวข้ามภพข้ามชาติ
  • ให้หนทางแห่งความสงบร่มเย็น ให้ความสุขที่แท้จริงแก่บุคคลทั้งหลาย โดยการปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมกาย แนะนำบุคคลทั้งหลายออกจากกามโดยธรรม
  • ให้ชีวิตการเป็นกัลยาณมิตร เวลาเป็นสิ่งมีค่ามากที่สุด เวลาที่ผ่านไปแต่ละวินาทีนั้นกลืนกินชีวิตของเราให้หมดไปด้วย แต่เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษย์ เราได้สละเวลาหรือชีวิต เพื่อทำหน้าที่กัลยาณมิตร ให้ทุกชีวิตได้เตรียมเสบียง ในการเดินทางในวัฎฎสงสาร ไปสู่จุดหมาย คือ นิพพาน

  คุณสมบัติของกัลยาณมิตร (กัลยาณธรรม 7 ประการ)


1. น่ารัก
เป็นบุคคลที่เห็นแล้วสบายใจ ชวนให้เข้าใกล้ปรึกษา ไต่ถาม มีความผ่องใสร่าเริง เบิกบานอยู่เป็นนิจ เสมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ มีความสว่างไสวชุ่มเย็น มองครั้งใดก็มีแต่ความชื่นใจ ลืมความอึดอัดขัดข้องทั้งปวง ผู้ที่ทรงคุณสมบัติเช่นนี้ได้ ต้องฝึกกิริยามารยาทให้เรียบร้อย นุ่มนวล สง่างามในทุกอิริยาบท ทุกบรรยากาศ มีความสะอาดทั้งกาย วาจา ใจ
  • กายสะอาด ไม่ได้หมายความเฉพาะร่างกายสะอาด นุ่งห่มเสื้อผ้าสะอาดเรียบร้อยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการไม่แปดเปื้อนด้วยอบายมุขทั้งหลาย ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่เจ้าชู้ ไม่เสพสุรายาเมา ฯลฯ
  • วาจาสะอาด คือรู้จักสำรวมในคำพูด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ส่อเสียด ยกตนข่มท่าน พูดให้ถูกกาลเทศะ
  • ใจสะอาด เป็นความบริสุทธิ์ที่อยู่ภายใน ใจมีความสง่ายิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน แม้จะมองไม่เห็นแต่ก็รู้ได้จากกิริยาอาการที่สดชื่นแจ่มใส ร่าเริง ใบหน้าที่อิ่มเอม เบิกบานอยู่เป็นนิจ
ความน่ารักของกัลยาณมิตร มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้งแฝงอยู่มากมาย เป็นความน่ารักที่ไม่มีความเสื่อมสลายไปตามวัยตามสังขาร สมควรที่สาธุชนทั้งหลายจะฝึกฝนตัวให้ได้คุณสมบัติเช่นนี้ไว้ เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง แก่ผู้อื่น และเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
2. น่าเคารพ
เป็นบุคคลที่อุดมด้วยปัญญาทั้งทางโลก และทางธรรมอย่างพร้อมมูล จนกระทั่งตระหนักและซาบซึ้งได้ดีว่า อะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรชั่ว อะไรควรอะไรไม่ควร อะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป แล้วดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง ที่เป็นบุญเป็นกุศลอย่างมั่นคงแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวต่อความยั่วยวนของสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ใจตกต่ำ เป็นคนรักความยุติธรรมเป็นที่สุด ไม่ว่าต่อหน้าอย่างไร ลับหลังต้องอย่างนั้น มีความเมตตากรุณาอยู่เป็นนิจกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง คุณสมบัตินี้จะหลอมให้กัลยาณมิตรเป็นที่น่าเคารพของชนทั้งหลาย
3. น่าเทิดทูน
เป็นบุคคลที่ทรงความรู้ มีภูมิปัญญาเป็นเลิศ ทั้งทางโลกและทางธรรม ความฉลาดปราดเปรื่องมีมากจนเป็นที่ยอมรับของทุกคนในวงการ เป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนอยู่เสมอ สามารถอันยอดเยี่ยม ใครๆ ก็อยากจะฝากตัวเป็นศิษย์ มีความอาจหาญร่าเริงที่จะประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงคุณความดีของกัลยาณมิตร

แต่... คุณสมบัติของกัลยาณมิตรข้อนี้ แม้จะไม่ฉลาดปราดเปรื่องมาก แต่อย่างน้อยต้องมีความสามารถแก้ไขความเห็นผิดของศิษย์ได้ มีอุบายวิธีทำให้ศิษย์ตั้งตนอยู่ในสัมมาทิฐิได้ ทำให้ศิษย์เกิดความเลื่อมใสอย่างแท้จริง
4. ฉลาดพูดแนะนำตักเตือน
เป็นบุคคลที่รู้จักพูดชี้แจงให้เข้าใจ มีความสามารถพูดโน้มน้าวให้ทำตาม ในสิ่งที่ดีมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ กัลยาณมิตรจึงควรศึกษาหลักจิตวิทยา ในการเข้าถึงจิตใจของบุคคลต่างๆ
หาโอกาสฝึกพูด ให้เหตุให้ผล ให้เหมาะสมกับบุคคลและโอกาส เพราะกัลยาณมิตรต้องพบปะกับบุคคลทุกเพศ วัย หลายฐานะ กัลยาณมิตรต้องให้คำแนะนำปรึกษาที่ดีที่ควร อย่าให้ผู้ที่มาพบเราต้องจากไปด้วยความผิดหวัง
5. อดทนต่อถ้อยคำ
เป็นบุคคลที่พร้อมจะรับฟังคำปรึกษาซักถามอยู่เสมอ อดทนฟังได้แม้เรื่องไร้สาระ ไม่เบื่อหน่าย ไม่รำคาญ เราจึงต้องอดทนให้อภัย รักษาอารมณ์ให้เยือกเย็นอยู่เสมอ
6. แถลงเรื่องที่ลึกล้ำได้
เป็นบุคคลที่สามารถนำเรื่องที่ยกมาอธิบายให้เกิดภาพพจน์เข้าใจง่าย แม้เรื่องราวที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับหัวข้อธรรมะที่ยากๆ ก็สามารถหาเรื่องอุปมาอุปมัยให้เข้าใจอย่างง่าย
7. ไม่ชักนำไปในสิ่งที่เสื่อม
เป็นบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในธรรม ไม่ยอมทำเรื่องที่เป็นการเสื่อมเสีย พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ไม่มีเบื้องหน้า ไม่มีเบื้องหลัง ทุกกิจกรรมของกัลยาณมิตรต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง ใสสะอาด พร้อมที่จะประกาศให้ชาวโลกรับรู้ และท้าทายให้มาพิสูจน์ได้เสมอ

การทำหน้าที่กัลยาณมิตรของอุปติสสะ

สมัยหนึ่ง มีนักบวชชื่อสญชัยปริพาชกอาศัยอยู่ในพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ซึ่งเป็นศิษย์ จำนวน ๒๕๐ คน ครั้งนั้น พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ เมื่อยังไม่ได้บวชในพระพุทธศาสนา ท่านมีนามเดิมว่าอุปติสสะและโกลิตะ ได้ศึกษาและประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพาชกท่านนี้ ท่านทั้งสองได้ทำกติกากันไว้ว่า ผู้ใดบรรลุอมตธรรมก่อน ก็ขอให้ผู้นั้นได้บอกอมตธรรมแก่อีกคนหนึ่งด้วย


วันหนึ่ง ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระอัสสชิ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ที่บรรลุธรรมแห่งพระพุทธองค์แล้ว ได้ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์นั้น ท่านเป็นผู้มีกิริยามรรยาท น่าเลื่อมใส มีนัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ สารีบุตรปริพาชกได้เห็นพระอัสสชิ กำลังเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ และเห็นกิริยามรรยาทอันน่าเลื่อมใส จึงเกิดความดำริว่า บรรดาพระอรหันต์ หรือท่านผู้ได้บรรลุพระอรหัตมรรคในโลก ภิกษุรูปนี้คงเป็นผู้ใดผู้หนึ่งแน่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุรูปนี้ แล้วจะถามว่า ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่านหรือท่านชอบใจธรรมของใคร?

แต่แล้วเกิดได้ยั้งคิดว่า ยังเป็นกาลไม่สมควรจะถามภิกษุรูปนี้ เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต ผิฉะนั้น เราพึงติดตามภิกษุรูปนี้ไปข้างหลัง รอเวลาที่ท่านเสร็จกิจแล้วจึงจะเข้าไปสนทนาด้วย ครั้นได้เวลาอันเหมาะสมแล้ว สารีบุตรปริพาชกได้เข้าไปหาพระอัสสชิและได้พูดจาปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว สารีบุตรปริพาชก จึงได้กล่าว กับท่านพระอัสสชิว่า “อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ขอรับ?”
พระอัสสชิตอบว่า “มีอยู่ ท่าน พระมหาสมณะศากยบุตร เสด็จออกทรงผนวชจากศากยตระกูล เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น.”
สารีบุตรปริพาชกจึงถามว่า “ก็พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร?”
“เราเป็นคนใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ.” พระอัสสชีกล่าว
“น้อยหรือมาก นิมนต์กล่าวเถิด ท่านจงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว ท่านจักทำพยัญชนะให้มากทำไม.”
ลำดับนั้น พระอัสสชิ ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่สารีบุตรปริพาชก ว่าดังนี้ “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้.”ครั้นได้ฟังธรรมปริยายนี้ สารีบุตรปริพาชก เกิดมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นทันที จิตใจผ่องใสปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า ประจักษ์แจ้งแล้วว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา
เวลาต่อมา สารีบุตรปริพาชกได้เข้าไปหาโมคคัลลานะปริพาชก ครั้นโมคคัลลานะปริพาชก ได้เห็นสารีบุตรปริพาชกเดินมาแต่ไกล จึงถามสารีบุตรปริพาชกว่า “ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านได้บรรลุอมตธรรมแล้วกระมังหนอ?”
“ ถูกละ ผู้มีอายุ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว.” สารีบุตรปริพาชกตอบ
“ ท่านบรรลุอมตธรรมได้อย่างไร ด้วยวิธีไร?”
“ผู้มีอายุ วันนี้เราได้เห็นพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ท่านเป็นผู้มีกิริยามรรยาทน่าเลื่อมใส ครั้นแล้วเราได้มีความดำริว่า บรรดาพระอรหันต์หรือท่านผู้ได้บรรลุอรหัตมรรคในโลก ภิกษุรูปนี้คงเป็นผู้ใดผู้หนึ่งแน่ ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุรูปนี้ แล้วถามว่า ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร เรานั้นได้ยั้งคิดว่า ยังเป็นกาลไม่สมควรจะถามภิกษุรูปนี้ เพราะท่านยังกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาต ผิฉะนั้นเราพึงติดตามภิกษุรูปนี้ไปข้างหลัง เพราะเป็นทางอันผู้มุ่งประโยชน์ทั้งหลายจะต้องสนใจ”
“ลำดับนั้น พระอัสสชิเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ถือบิณฑบาตกลับไปแล้ว ต่อมา เราได้เข้าไปหาพระอัสสชิ ครั้นถึงแล้ว ได้พูดปราศรัยกับพระอัสสชิ ครั้นผ่านการพูดปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิง เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เรายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคำนี้ต่อพระอัสสชิว่า อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ขอรับ?”
“พระอัสสชิตอบว่า มีอยู่ ท่าน พระมหาสมณะศากยบุตรเสด็จออกทรงผนวชจากศากยตระกูล เราบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เราได้ถามพระอัสสชิต่อไปว่า ก็พระศาสดาของชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น”
“เราได้ถามพระอัสสชิต่อไปว่า ก็พระศาสดาของท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร? พระอัสสชิตอบว่า เราเป็นคนใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ เราได้เรียนว่า น้อยหรือมาก นิมนต์กล่าวเถิด ท่านจงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว ท่านจักทำพยัญชนะให้มากทำไม.”
“ผู้มีอายุ ครั้งนั้น พระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้ ว่าดังนี้”
“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้.”
ครั้นได้ฟังธรรมปริยายนี้ โมคคัลลานะปริพาชก ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกับสารีบุตรปริพาชก ท่านมีจิตผ่องใสปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน รู้ประจักษ์ชัดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา ปริพาชกทั้งสองจึงปรึกษากันว่าควรที่จะเชิญชวนสญชัยปริพาชก ซึ่งเป็นอาจารย์เข้าไปสักการะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะแม้พระอัสสชิซึ่งเป็นพระสาวก ยังกล่าวธรรม จนท่านทั้งสองได้ดวงตาเห็นธรรม หากได้เข้าเฝ้าถวายสักการะแด่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ย่อมจะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตอย่างมหาศาล แต่สญชัยปริพาชก ไม่ปรารถนาที่จะไปด้วย ยังมีความพอใจที่จะเป็นอาจารย์ของหมู่ปริพาชกอยู่เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม สารีบุตรปริพาชกและโมคคัลลานะปริพาชก ก็ชวนกันเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความมุ่งมั่น พระพุทธองค์ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นสารีบุตรโมคคัลลานะมาแต่ไกล จึง มีรับสั่งกับพระภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สหายสองคนนั้น คือโกลิตะ และอุปติสสะ กำลังมานั่น จักเป็นคู่สาวกของเรา จักเป็นคู่อันเจริญชั้นเยี่ยมของเรา”
ครั้งนั้น สารีบุตรปริพาชกและโมคคัลลานะปริพาชกได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วได้ซบเศียรลงที่พระบาทของผู้มีพระภาค แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคว่า “ขอพวกข้าพระพุทธเจ้า พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า.”
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.”
หลังจากบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเรียบร้อยแล้ว ปริพาชกทั้งสองได้กลายเป็นพระอรหันต์ และเป็นอัครสาวกผู้ที่มีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรู้จักท่านทั้งสองในนาม พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะนั่นเอง และจากเรื่องราวดังกล่าว แสดงให้เห็นความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จนทำให้ท่านทั้งสองได้ดวงตาเห็นธรรม จนกระทั่งได้พบพระบรมครู คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเป็นกัลยาณมิตรให้บุคคลอื่น และการมีบุคคลอื่นมาเป็นกัลยาณมิตรให้เรานั้น หากมุ่งช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางที่ดีงาม ย่อมจะทำให้ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้เพราะเราเองจะเป็นคนดีเพียงคนเดียวไม่ได้ และจะอยู่เพียงลำพังคนเดียวในโลกไม่ได้ จำเป็นจะต้องมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งการจะมีความสัมพันธ์กับบุคคลเหล่าอื่นแบบใด จะเป็นในรูปแบบของการเป็นกัลยาณมิตรหรือไม่ใช่การเป็นกัลยาณมิตร ย่อมมีผลต่อชีวิตของเรา
หากเราหยิบยื่นความสัมพันธ์แก่บุคคลอื่นในการเป็นกัลยาณมิตร หรือเราได้รับการหยิบยื่นด้วยความเป็นกัลยาณมิตรจากบุคคลอื่น ก็ย่อมเชื่อแน่ได้ว่า ชีวิตของเราย่อมประสบกับความดีงาม และพบกับความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ทั้งชีวิตในทางโลกและในทางธรรม
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น