วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การหลุดพ้นคืออะไร



การหลุดพ้นคืออะไร


การหลุดพ้น ในทางพระพุทธศาสนานั้น

คือ การพ้นจากทุกข์ พ้นจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน

พ้นออกไปจากการเวียนว่ายตายเกิด



วิธีทำให้หลุดพ้น


วิธีที่จะทำให้หลุดพ้นได้นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า

คือการดำเนินตามองค์มรรคแปด

คือ

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ

สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ


องค์มรรคแปดนี้ คือ ธรรมที่เป็นเหตุแห่งการฆ่ากิเลส

และเข้าถึงพระนิพพาน



องค์มรรคแปด


องค์มรรคแปด กล่าวโดยละเอียดคือ


(
๑)

สัมมาทิฏฐิ

การเห็นแจ้งในอริยสัจจ์ ๔ โดยกิจทั้ง ๔

ก.

การเห็นแจ้งในทุกสัจจะโดยปริญญากิจ

(
คือ โดยการกำหนดรู้ทุกข์)

ข.

การเห็นแจ้งในสมุทยสัจจะโดยปหานกิจ

(
คือ โดยการละหรือการประหารเหตุให้เกิดทุกข์)

ค.

การเห็นแจ้งในนิโรธสัจจะโดยสัจฉิกรณกิจ

(
คือ โดยการกระทำพระนิพพานให้แจ้ง)

ง.

การเห็นแจ้งในมรรคสัจจะโดยภาวนากิจ

(
คือ โดยการกระทำให้องค์มรรคแปดมีขึ้น เกิดขึ้น)


(
๒)

สัมมาสังกัปปะ

ก. ความดำริที่ออกจากกามคุณอารมณ์ (นิกฺขมสงฺกปฺป)

ข. ความดำริที่ประกอบด้วยเมตตา (อพฺยาปาทสงฺกปฺป)

ค. ความดำริที่ประกอบด้วยกรุณา (อวิหิงฺสาสงฺกปฺป)


(
๓)

สัมมาวาจา

การเว้นจากวจีทุจริต ๔

(
การพูดโกหก พูดหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด)

ที่ไม่เกี่ยวกับการงานอาชีพ


(
๔)

สัมมากัมมันตะ

การเว้นจากกายทุจริต ๓

(
การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม)

ที่ไม่เกี่ยวกับการงานอาชีพ


(
๕)

สัมมาอาชีวะ

การเว้นจากวจีทุจริต ๔ และกายทุจริต ๓

ที่เกี่ยวกับอาชีพ


(
๖)

สัมมาวายามะ

ความเพียรที่ดำเนินไปตามสัมมัปธานทั้ง ๔

(
สัมมัปธาน ๔ คือ

การพยายามละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

การพยายามไม่ให้อกุศลธรรมใหม่เกิด

การพยายามให้กุศลธรรมใหม่ๆ เกิด

การพยายามให้กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป)


(
๗)

สัมมาสติ

การมีสติตามสติปัฏฐานสี่


(
๘)

สัมมาสมาธิ

ความตั้งมั่นในอารมณ์วิปัสสนากรรมฐาน

(
อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานคือ รูปกับนาม)


เหล่านี้ คือเรื่องของการหลุดพ้นของสรรพสัตว์ทั่วๆ ไป


แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น ก็ต้องหลุดพ้นจากกิเลส

ด้วยทางเส้นนี้เหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น

เพราะเป็นทางสายเดียว มีอยู่ทางเดียว


เพียงแต่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นต้องกระทำมาเอง

คือต้องบ่มเพาะบารมีเพื่อการตรัสรู้เอง

และต้องตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยไม่มีใครมาสอน

ส่วนการตรัสรู้ของเหล่าพระพุทธสาวกนั้น

ต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องชี้ทาง


ในการสร้างบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น

ก็จะต้องบำเพ็ญ ทศบารมี ให้ถึงพร้อม

เหมือนกันหมดทุกพระองค์


ส่วนการแบ่งประเภทพระพุทธเจ้านั้น

ไม่เกี่ยวกับวิธีการหลุดพ้นซึ่งเหมือนๆ กันอยู่แล้ว

เรื่องประเภทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เป็นเรื่องเฉพาะของเหล่าพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ไม่สามัญแก่คนทั่วไปอื่นๆ เลย
:)


ประเภทของพระพุทธเจ้า


พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี ๓ ประเภท


(
๑)

พระปัญญาธิกพุทธเจ้า

ปัญญาธิกะ แปลว่า ผู้ยิ่งด้วยปัญญา อธิบายว่ามี

ปัญญายิ่งกว่าคุณธรรมอย่างอื่นทั้งสิ้น ส่วนคุณธรรมอย่างอื่น

เช่น สัทธา หรือวิริยะเป็นต้นก็มีอยู่พร้อมแต่น้อยกว่า หรืออ่อน

กว่าปัญญา


เรียกว่าพระปัญญาธิกพุทธเจ้านี้

สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าโดยมีปัญญานำหน้าเด่นกว่าอย่างอื่น

พระปัญญาธิกพุทธเจ้านี้

ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีนับแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรก

เป็นเวลาทั้งสิ้น ๔ อสงไขยกำไรแสนกัปป์


(
๒)

พระสัทธาธิกพุทธเจ้า

สัทธาธิกะ แปลว่า ยิ่งด้วยศรัทธา คือมีศรัทธาแก่กล้า

แข็งกว่าคุณธรรมอย่างอื่นๆ เช่น ปัญญา หรือ วิริยะ

ก็มีอยู่พร้อมมูล แต่อ่อนกว่าหรือน้อยกว่าศรัทธา


เรียกว่าพระสัทธาธิกพุทธเจ้านี้

สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าโดยมีศรัทธานำหน้าเด่นกว่าอย่างอื่น

พระสัทธาธิกพุทธเจ้านี้

ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีนับแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรก

เป็นเวลาทั้งสิ้น ๘ อสงไขยกำไรแสนกัปป์


(
๓)

พระวิริยาธิกพุทธเจ้า

วิริยาธิกะ แปลว่า ผู้ยิ่งด้วยวิริยะ คือ ยิ่งด้วยความเพียร

ความกล้าหาญ พระโพธิสัตว์ประเภทนี้มีวิริยะมากกว่า

หรือ เข้มแข็งกว่าคุณธรรมหรือคุณสมบัติอย่างอื่นทั้งหมด

ส่วนคุณสมบัติอย่างอื่นๆ เช่น ปัญญาและสัทธาก็มีอยู่แต่

น้อยกว่า หรืออ่อนกว่า



เรียกว่าพระวิริยาธิกพุทธเจ้านี้

สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าโดยมีวิริยะนำหน้าเด่นกว่าอย่างอื่น

พระวิริยาธิกะพุทธเจ้านี้

ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีนับแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรก

เป็นเวลาทั้งสิ้น ๑๖ อสงไขยกำไรแสนกัปป์


+ + + + + + + + +

ดังนั้น จะเห็นว่าที่ท่านแยกให้เห็นประเภทของพระพุทธเจ้านี้

เป็นเพียงการแยกให้เห็นลักษณะการบำเพ็ญพระบารมีเฉยๆ

เช่นถ้าเป็นพระพุทธเจ้าประเภทเด่นที่ปัญญา

ก็จะใช้เวลาบำเพ็ญสั้นกว่า ตรัสรู้ได้เร็วกว่า

แต่ส่วนบารมีที่ต้องบำเพ็ญนั้น ก็ต้องทำเหมือนๆ กัน

และต้องตรัสรู้เหมือนกัน

ตรัสรู้สิ่งเดียวๆ กัน


+ + + + + + + + + +







การกราบไหว้เคารพบูชา


ส่วนเรื่องการกราบไหว้บูชานั้น

ทางพระพุทธศาสนาท่านให้เคารพบูชาบุคคลหรือสิ่งที่ควร

เคารพบูชา

ก็ต้องดูว่าเป็นทางโลกหรือทางธรรม

ก็ต้องทำไปให้สมควรแก่สถานะหรือสถานการณ์นั้นๆ

ของตนๆ ให้เหมาะสมแก่กาละและเทศะ


หากเป็นเรื่องทางธรรม

ท่านก็ว่าพึงเคารพผู้ที่มีธรรมสูงกว่าตน

ธรรมนี้คือธรรมะ คือคุณธรรม คือปัญญาทางธรรม



เลขยันต์ เครื่องรางของขลัง


ส่วนเรื่องเลขยันต์หรือเครื่องรางของขลังนั้น

ไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนา :)

เพราะในพระพุทธศาสนาน้นที่พึ่งแท้จริงคือตนเอง

และคือคุณความดีหรือคุณธรรมในตัวเอง

และคือปัญญาในตนนั่นเอง

ไม่มีอะไรนอกเหนือไปกว่านั้น


เรื่องเลขยันต์เครื่องรางของขลัง เป็นเรื่องของโลก

เป็นเรื่องที่อยู่ในระดับสังสารวัฏ ไม่ใช่เรื่องในระดับการออกจากทุกข์



ฤทธิ์ ปาฏิหาริย์


พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญฤทธิ์หรืออิทธิปาฏิหาริยิ์ใดๆ

ทั้งยังทรงใช้ฤทธิ์ก็เพื่อปราบฤทธิ์เท่านั้น :)

ทรงใช้ฤทธิ์

เพื่อให้ผู้ชอบฤทธิ์หรือลำพองในฤทธิ์
ตระหนักในคุณค่าอันจำกัดของฤทธิ์
มองเห็นสิ่งอื่นที่ดีงามประเสริฐกว่าฤทธิ์
และพร้อมที่จะเรียนรู้หรือรับฟังสิ่งอันประเสริฐนั้น
ซึ่งจะทรงชี้แจงสั่งสอนแก่เขา
ด้วยอนุสาสนีปาฏิหาริย์ต่อไป
(
พุทธธรรม โดยพระธรรมปิฎก หน้า ๔๖๕)

(
อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ ปาฏิหาริย์แห่งคำสอน)



พระพุทธรูป พระเครื่อง


ในช่วงที่พระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น

ไม่ได้มีพระพุทธรูปหรือพระเครื่องใดๆ

ต่อมาเมื่อทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

พุทธศาสนิกชนได้สร้างพระพุทธรูป

เพื่อไว้เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธคุณ

พระเมตตาคุณ พระบริสุทธิคุณ

เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธองค์

และพระรัตนตรัย


นี้คือจุดมุ่งหมายดั้งเดิมที่เป็นไปตามแก่นศาสนาพุทธ

ไม่มีอะไรนอกไปกว่านั้น


ดังนั้น การกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปหรือพระเครื่อง

ในฐานะที่เป็นตัวแทนพระพุทธองค์

และพระพุทธคุณ ฯลฯ ดังกล่าวมาแล้ว

ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปในกรอบของพระพุทธศาสนา


ส่วนเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์นั้น

ทางพุทธมีเพียงปาฏิหาริย์แห่งการพึ่งตนเอง

พึ่งตนเองด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา :)

ผู้ทำบุญให้ทาน ย่อมไม่ลำบากในวัตถุสิ่งของและเรื่องต่างๆ

ผู้มีศีล ศีลนั่นย่อมคุ้มครองรักษา

ผู้เจริญภาวนา ย่อมมีพรหมวิหารสี่ สติและปัญญา

คุ้มครองรักษา





คาถา


พระพุทธพจน์ที่เป็นพระบาลีนั้นแหละคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ศักด์สิทธิ์เพราะประกอบพร้อมไปด้วยปัญญา


ส่วนการสวดมนต์นั้น

คำสวดมนต์ต่างๆ อาทิ ที่ทำวัตรเช้าเย็นกันนั้น

ก็ล้วนเป็นคำสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

เป็นคำแผ่เมตตา

หรือไม่ก็เป็นแก่นพระธรรม

เท่านั้น :)



พุทธิจริต


ผู้ที่เป็นพุทธิจริตนั้น มีลักษณะต่างๆ อาทิ

เป็นผู้มีจิตใจสูง ว่าง่ายในการสั่งสอนที่มีประโยชน์

รู้จักเลือกคบแต่คนดีเป็นเพื่อนโดยไม่มีการถือชั้นวรรณะ

เป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค

เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ

เป็นผู้หมั่นประกอบความเพียร

มีจิตใจตื่นอยู่เป็นนิจในกิจที่ดี

เป็นผู้มีความเบื่อหน่ายและเห็นโทษ

ในการเกิดแก่เจ็บตาย

เป็นผู้มีความเพียรโดยเหมาะควร

คือหมั่นประกอบในทาน ศีล ภาวนา

เพื่อให้ได้คติที่ดีในภพข้างหน้าต่อๆ ไป

จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง


+ + + + + + + + + +

สรุปว่า :)

เรื่องการจำแนกว่าเป็นปัญญาธิกะ สัทธาธิกะหรือวิริยาธิกะ

เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ไม่สามัญแก่เหล่าพุทธสาวกเลย :)

ดังนั้น จึงไม่มีตรงไหนที่ไหนจำแนกพระพุทธสาวก

ว่าเป็นปัญญาธิกะหรือสัทธาธิกะหรือวิริยาธิกะ

แต่อย่างใด


พระพุทธสาวกจะมีจำแนกก็เพียงว่าเป็นพระอัครสาวก

หรือพระสาวกธรรมดาทั่วๆ ไป เท่านั้น


สรุปว่า :)

พระพุทธศาสนามี ๓ คือปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

คือ ต้องศึกษา ต้องปฏิบัติ จึงจะบรรลุธรรม

ศึกษา คือ ศึกษาคำสอนคือพระไตรปิฎก

ปฏิบัติ คือ ปฏิบัติตามคำสอนในพระไตรปิฎก

แล้วจึงจะได้รับผลคือได้บรรลุธรรม

คือรู้แจ้งแทงตลอดธรรมที่ควรรู้เพื่อการพ้นทุกข์


ถ้าไม่ได้ศึกษาพระปริยัติธรรม แต่ว่าเลื่อมใสอย่างเดียว

แต่ไม่ได้รู้ไม่ได้เข้าใจข้อธรรมที่ตนเลื่อมใส

และไม่ได้ปฏิบัติฝึกฝนตนตามข้อธรรมที่ศึกษาแล้วนั้น

ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้เลย

เพราะเหตุว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ

ต้องทำเองถึงจะเห็นผลเอง

เพราะถ้าไม่ปฏิบัติ (เจริญองค์มรรคแปด

เจริญทาน-ศีล-ภาวนาและศีล-สมาธิ-ปัญญา)


องคุลีมาลนั้น ท่านได้บำเพ็ญเพียร ได้ฝึกฝนปฏิบัติตน

อบรมบ่มเพาะพระปริยัติธรรมและพระปฏิบัติธรรม

คือศึกษาและปฏิบัติตนมามากมายแล้วในภพชาติก่อนๆ

บารมีในการเกิดปัญญาประหารกิเลสของท่านเต็มแล้ว

จึงเพียงได้รับการสะกิดที่เหมาะสมจากพระพุทธเจ้า

ก็สามารถบรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็ว

ไม่ใช่อยู่ๆ ก็บรรลุธรรมได้ด้วยศรัทธาเพียงชั่วแว่บ

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา

ปัญญานั้นต้องอาศัยการสร้างสมบ่มเพาะ

ทำกันข้ามภพข้ามชาติ หลายภพหลายชาติ

จึงจะเกิดปัญญาขั้นประหารกิเลสได้

การบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนา

จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

และยังเป็นเรื่องที่ต้องทำเอาเอง

ใครมาทำแทนใครไม่ได้ทั้งสิ้น


การเชื่อพระพุทธเจ้าอย่างไม่ประกอบด้วยปัญญานั้น

ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ

พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่าไม่พึงเชื่ออะไรง่ายๆ

แม้แต่ที่ทรงกล่าวเองก็ไม่ให้เชื่อง่ายๆ

แต่จะต้องลงมือพิสูจน์ด้วยตนเองก่อน

ต่อเมื่อเห็นผล แน่ใจด้วยตนเองแล้ว

พิสูจน์จนแจ่มแจ้งชัดเจนแน่ใจแล้ว

จึงค่อยตัดสินว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ


ดังนั้น การเชื่ออะไรง่ายๆ จึงไม่ใช่ทางของพุทธศาสนา

คำว่า ศรัทธา ในศาสนาพุทธจึงหมายถึง

ศรัทธาคือความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่ออย่างประกอบพร้อม

ไปด้วยสติ สัมปชัญญะ ประกอบพร้อมไปด้วยปัญญา

พร้อมๆ กันไปด้วย :)

เรียกว่าเชื่อเพราะได้ศึกษาแล้ว ทดลองปฏิบัติแล้ว

เห็นผลประจักษ์แจ้งแล้ว รู้ที่มาที่ไปต่างๆ แล้ว

จึงเชื่อ จึงค่อยปักใจเชื่อ :)


ส่วนท่านที่เพียงลูบผ้าขาวแล้วบรรลุธรรมนั้น

มีเหตุมาแต่ก่อนเก่า คือท่านสร้างสมเหตุเก่าๆ มาดีแล้ว

ในภพชาติก่อนๆ ท่านได้สร้างบารมีทางธรรมมามากแล้ว

บารมีเต็มแล้ว พร้อมที่จะพ้นทุกข์แล้ว

เมื่อได้มาพิจารณาผ้าขาว อันตรงกับจริตอัธยาศัยเดิมๆ

ที่ได้บ่มเพาะมา

ก็สามารถบรรลุธรรมได้โดยรวดเร็ว


และสรุปว่า

พระพุทธศาสนามีสายเดียวคือสายพระพุทธเจ้านะคะ :)

และไม่เคยมีปรากฏบัญญัติหรือแม้แต่กล่าวไว้ตรงไหน

ว่ามีสายปัญญา สายศรัทธาหรือสายวิริยะ แต่อย่างใด

เพราะการบำเพ็ญเพียรเพื่อการพ้นทุกข์นั้น

ต้องประกอบด้วยคุณธรรมทุกตัว

ต้องมีคุณธรรมทุกอย่างพรั่งพร้อม

จึงจะพ้นทุกข์ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น