วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระธรรมคำสอน หลวงพ่อชา สุภทฺโท



วัดหนองป่าพง
ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


มนุษย์เราทั้งหลายไม่ต้องการทุกข์ ต้องการแต่สุข
ความจริงสุขนั้นก็คือ ทุกข์อย่างละเอียดนั่นเอง
ส่วนทุกข์ก็คือ ทุกข์อย่างหยาบ
พูดอย่างง่ายๆ สุขและทุกข์นี้ก็เปรียบเสมือนงูตัวหนึ่ง
ทางหัวมันเป็นทุกข์ ทางหางมันเป็นสุข
เพราะถ้าลูบทางหัวมันมีพิษ ทางปากมันมีพิษ
ไปใกล้ทางหัวมัน มันก็กัดเอา
ไปจับหางมันก็ดูเหมือนเป็นสุข
แต่ถ้าจับไม่วาง มันก็หันกลับมากัดได้เหมือนกัน
เพราะทั้งหัวงูและหางงู มันก็อยู่ในงูตัวเดียวกัน
คือ ตัณหา ความลุ่มหลงนั่นเอง

ฉะนั้น บางทีเมื่อมีสุขแล้วใจก็ยังไม่สบาย ไม่สงบ
ทั้งที่ได้สิ่งที่พอใจแล้ว เช่น ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ
ได้มาแล้วก็ดีใจก็จริง แต่มันก็ยังไม่สงบจริงๆ
เพราะยังมีความเคลือบแคลงใจ ว่ามันจะสูญเสียไป
กลัวมันจะหายไป ความกลัวนี่แหละเป็นต้นเหตุให้มันไม่สงบ
บางทีมันเกิดสูญเสียไปจริงๆ ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก
นี่หมายความว่า ถึงจะสุขก็จริงแต่ก็มีทุกข์ดองอยู่ในนั้นด้วย
แต่เราไม่รู้จัก เหมือนกันกับว่าเราจับงู
ถึงแม้ว่าเราจับหางมันก็จริง ถ้าจับไม่วางมันก็หันกลับมากัดได้

ฉะนั้น หัวงูก็ดี หางงูก็ดี บาปก็ดี บุญก็ดี
อันนี้อยู่ในวงวัฏฏะ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว ก็ไม่ใช่หนทาง

ดูไม้ท่อนนี้ซิ..... สั้นหรือยาว
สมมติว่า คุณอยากได้ไม้ที่ยาวกว่านี้..... ไม้ท่อนนี้มันก็สั้น
แต่ถ้าคุณอยากได้ไม้สั้นกว่านี้..... ไม้ท่อนนี้มันก็ยาว
หมายความว่า “ตัณหา” ของคุณต่างหาก
ที่ทำให้มีสั้น มียาว มีชั่ว มีทุกข์ มีสุข ขึ้นมา

ลงท้ายแล้ว แนวทางการทำสมาธิภาวนาทุกแบบ
ต้องเป็นไปเพื่อการปล่อยวาง
ผู้ปฏิบัติต้องไม่ยึดมั่น..... แม้ในตัวอาจารย์
แนวทางใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง สู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น
ก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง

ถ้าเราเอาชนะตัวเอง
มันก็จะชนะทั้งตัวเอง ชนะทั้งคนอื่น ชนะทั้งอารมณ์
ชนะทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพะ
เป็นอันว่า ชนะหมด

อาการบังคับตัวเองให้กำหนดลมหายใจ ข้อนี้เป็นศีล
การกำหนดลมหายใจได้และติดต่อไปจนจิตสงบ ข้อนี้เรียกว่าสมาธิ
การพิจารณากำหนดลมหายใจว่าไม่เที่ยง ทนได้ยาก มิใช่ตัวตน
แล้วรู้การปล่อยวาง ข้อนี้เรียกว่าปัญญา


นั่ง มันสงบก็ดูความสงบไป ที่มันไม่สงบก็ดูความไม่สงบไป
ที่มันสงบนั้นก็เป็นเรื่องของจิต มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้เป็นอย่างอื่น
มันสงบแล้วก็สงบไป ถ้าไม่สงบก็ไม่สงบไป
เราจะไปทุกข์เพราะมันไม่สงบไม่ได้ เราจะดีใจเพราะจิตสงบมันก็ไม่ถูก

การฝึกจิตหรือการภาวนานี้ ถ้าจิตสงบแล้ว
เราจะออกจากเพื่อน ไม่อยากคลุกคลี เพื่อนมาหาก็รำคาญ
คนที่จิตยังไม่สงบจะชอบอยู่กันหลายคน พูดมากวุ่นวาย
บางองค์จิตไม่อยู่นึกถึงองค์นั้นก็ไปหา นึกถึงเรื่องนั้นก็ชวนคุย
เป็นไปตามคำสั่งตามอาการของกิเลสตัณหา
ผู้ประพฤติปฏิบัติจริงอยู่กันร้อยสองร้อยก็ไม่มีเสียงคุย

มรรคผลนิพพานมีอยู่..... แต่สิ่งเหล่านั้นเกิดจากการปฏิบัติ
เกิดจากการทรมาน กล้าหาญ กล้าฝึก กล้าหัด กล้าคิด
กล้าแปลง กล้าทำ การทำนั้นทำอย่างไร
ท่านให้ฝืนใจตัวเอง ใจเราคิดไปทางนี้ท่านให้ไปทางโน้น
ใจเราคิดไปทางโน้นท่านให้ไปทางนี้ ทำไมท่านจึงให้ฝืนใจ
เพราะใจถูกกิเลสเข้าพอกเต็มที่แล้ว มันยังไม่ได้ฝึกหัดดัดแปลง
ยังไม่เป็นศีลเป็นธรรม ใจมันยังไม่แจ้งจะไปเชื่อมันได้อย่างไร

กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย คือนักปฏิบัติ
กินมาก นอนมาก พูดมาก คือคนโง่


ถ้าเป็นของที่ซื้อมา สั่งมา หรือขอเขามา
จะดีอย่างไรก็เห็นเป็นของไม่ดีไปหมด
แต่ถ้าเป็นของที่ได้มาเองแม้ไม่ค่อยดี แตกหัก
พอซ่อมแซมใช้ได้ก็ดูเป็นของดียิ่งนัก

ฝึกให้ได้ว่าถึงเวลาวางก็ให้มันวาง
ให้มันเป็นคนละอย่าง คนละอย่าง คนละอันกัน
ทำก็ได้วางก็ได้ ให้มันขาดกันไปเลย
ฝึกไปก็ค่อยเบาไป ง่ายขึ้น ทำอะไรก็หัดตัวเองอย่างนั้น ทำก็ได้วางก็ได้
เลยได้รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์และทีนี้ เหตุที่ทุกข์เกิดก็รู้จักแล้ว
ธรรมเกิดเพราะเหตุรู้จักแล้ว เห็นแล้ว เกิดอย่างนี้นี่เอง
จากนั้นมาไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีแต่ความสนุกเบิกบาน

เราปฏิบัติอย่าให้หูหางมันเกิดขึ้น เป็นอะไรแล้วก็ให้มันแล้วกันไป
เป็นพระโสดาบันแล้วก็ให้มันแล้วไป เป็นพระอรหันต์แล้วก็ให้มันแล้วไป
อยู่ง่ายๆ ทำประโยชน์ไปเรื่อยๆ อยู่ที่ไหนก็อยู่ไปได้เป็นปกติ
ไม่ต้องไปโอ้อวดว่าเราได้ เราเป็นอะไรๆ ทั้งนั้น

ผู้ถึงสันติธรรมย่อมมีจิตอยู่อย่างนอกเหตุเหนือผล
นอกสุขเหนือทุกข์ นอกดีเหนือชั่ว นอกเกิดเหนือตาย
มันก็ทำความเกิดนั้นไม่ให้เป็นทุกข์ คือมันเกิดดับ
ให้มีสติประจำกาลที่ได้ทำและคำที่พูดอยู่เสมอ
นี่เรียกว่าปฏิปทาของจิต

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กัลยาณมิตร



  ความมีกัลยามิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหาและบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี , ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อมสนับสนุน ชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ , สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ข้อนี้เป็นองค์ประกอบภายนอก
คำว่า “กัลยาณมิตร” แปลความหมายคำ “กัลยาณ” ว่า หมายถึง งาม, ดี และ “มิตร” หมายถึง เพื่อนรักใคร่ที่สนิทสนมคุ้นเคย ดังนั้น กัลยาณมิตร จึงมีความหมายว่า เพื่อนที่ดี, เพื่อนที่งาม หรือเพื่อนที่รักใคร่คุ้นเคยที่ดี, เพื่อนรักใคร่คุ้นเคยที่งาม

กัลยาณมิตร มิได้หมายถึงเพื่อนที่ดีตามความหมายทั่วไปเท่านั้น แต่เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม มีความตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ทำหน้าที่ของชาวพุทธที่ดี เพื่อยังประโยชน์ให้ถึงพร้อมทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ผู้สั่งสอนแนะนำ ชักนำไปในหนทางที่ถูกต้องดีงาม

เมื่อเราเป็นกัลยาณมิตรภายในให้กับตนเองแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้กับผู้อื่น โดยมีความสำนึกในหน้าที่อันสูงส่งนี้ว่า เป็นหน้าที่ที่มีเกียรติ มีค่าอย่างยิ่ง เป็นหน้าที่ของบัณฑิตและนักปราชญ์ทุกยุคทุกสมัย ต่างสรรเสริญและทำกันมาก่อนแล้วทั้งนั้น การทำหน้าที่กัลยาณมิตรภายนอก ทำได้โดย
  • ให้ความยิ้มแย้มแจ่มใส ให้ความสดชื่นเบิกบานใจกับทุกๆ คน
  • ให้ความเป็นมิตร ให้ความเป็นกันเอง ให้ความปรารถนาดีอย่างจริงใจกับทุกคน เป็นญาติยิ่งด้วยญาติ เป็นมิตรยิ่งด้วยมิตร
  • ให้คำแนะนำที่ดี ชี้หนทางที่ถูกให้เดิน ดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและเป็นไปเพื่อการสร้างบารมีอย่างแท้จริง
  • ให้อริยทรัพย์ แนะนำให้ทำบุญให้ถูกวิธีและถูกเนื้อนาบุญ เพื่อเปลี่ยนสามัญทรัพย์ให้เป็นอริยทรัพย์ติดตัวข้ามภพข้ามชาติ
  • ให้หนทางแห่งความสงบร่มเย็น ให้ความสุขที่แท้จริงแก่บุคคลทั้งหลาย โดยการปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมกาย แนะนำบุคคลทั้งหลายออกจากกามโดยธรรม
  • ให้ชีวิตการเป็นกัลยาณมิตร เวลาเป็นสิ่งมีค่ามากที่สุด เวลาที่ผ่านไปแต่ละวินาทีนั้นกลืนกินชีวิตของเราให้หมดไปด้วย แต่เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษย์ เราได้สละเวลาหรือชีวิต เพื่อทำหน้าที่กัลยาณมิตร ให้ทุกชีวิตได้เตรียมเสบียง ในการเดินทางในวัฎฎสงสาร ไปสู่จุดหมาย คือ นิพพาน

  คุณสมบัติของกัลยาณมิตร (กัลยาณธรรม 7 ประการ)


1. น่ารัก
เป็นบุคคลที่เห็นแล้วสบายใจ ชวนให้เข้าใกล้ปรึกษา ไต่ถาม มีความผ่องใสร่าเริง เบิกบานอยู่เป็นนิจ เสมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ มีความสว่างไสวชุ่มเย็น มองครั้งใดก็มีแต่ความชื่นใจ ลืมความอึดอัดขัดข้องทั้งปวง ผู้ที่ทรงคุณสมบัติเช่นนี้ได้ ต้องฝึกกิริยามารยาทให้เรียบร้อย นุ่มนวล สง่างามในทุกอิริยาบท ทุกบรรยากาศ มีความสะอาดทั้งกาย วาจา ใจ
  • กายสะอาด ไม่ได้หมายความเฉพาะร่างกายสะอาด นุ่งห่มเสื้อผ้าสะอาดเรียบร้อยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการไม่แปดเปื้อนด้วยอบายมุขทั้งหลาย ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่เจ้าชู้ ไม่เสพสุรายาเมา ฯลฯ
  • วาจาสะอาด คือรู้จักสำรวมในคำพูด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ส่อเสียด ยกตนข่มท่าน พูดให้ถูกกาลเทศะ
  • ใจสะอาด เป็นความบริสุทธิ์ที่อยู่ภายใน ใจมีความสง่ายิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน แม้จะมองไม่เห็นแต่ก็รู้ได้จากกิริยาอาการที่สดชื่นแจ่มใส ร่าเริง ใบหน้าที่อิ่มเอม เบิกบานอยู่เป็นนิจ
ความน่ารักของกัลยาณมิตร มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้งแฝงอยู่มากมาย เป็นความน่ารักที่ไม่มีความเสื่อมสลายไปตามวัยตามสังขาร สมควรที่สาธุชนทั้งหลายจะฝึกฝนตัวให้ได้คุณสมบัติเช่นนี้ไว้ เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง แก่ผู้อื่น และเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
2. น่าเคารพ
เป็นบุคคลที่อุดมด้วยปัญญาทั้งทางโลก และทางธรรมอย่างพร้อมมูล จนกระทั่งตระหนักและซาบซึ้งได้ดีว่า อะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรชั่ว อะไรควรอะไรไม่ควร อะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป แล้วดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง ที่เป็นบุญเป็นกุศลอย่างมั่นคงแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวต่อความยั่วยวนของสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ใจตกต่ำ เป็นคนรักความยุติธรรมเป็นที่สุด ไม่ว่าต่อหน้าอย่างไร ลับหลังต้องอย่างนั้น มีความเมตตากรุณาอยู่เป็นนิจกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง คุณสมบัตินี้จะหลอมให้กัลยาณมิตรเป็นที่น่าเคารพของชนทั้งหลาย
3. น่าเทิดทูน
เป็นบุคคลที่ทรงความรู้ มีภูมิปัญญาเป็นเลิศ ทั้งทางโลกและทางธรรม ความฉลาดปราดเปรื่องมีมากจนเป็นที่ยอมรับของทุกคนในวงการ เป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนอยู่เสมอ สามารถอันยอดเยี่ยม ใครๆ ก็อยากจะฝากตัวเป็นศิษย์ มีความอาจหาญร่าเริงที่จะประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ถึงคุณความดีของกัลยาณมิตร

แต่... คุณสมบัติของกัลยาณมิตรข้อนี้ แม้จะไม่ฉลาดปราดเปรื่องมาก แต่อย่างน้อยต้องมีความสามารถแก้ไขความเห็นผิดของศิษย์ได้ มีอุบายวิธีทำให้ศิษย์ตั้งตนอยู่ในสัมมาทิฐิได้ ทำให้ศิษย์เกิดความเลื่อมใสอย่างแท้จริง
4. ฉลาดพูดแนะนำตักเตือน
เป็นบุคคลที่รู้จักพูดชี้แจงให้เข้าใจ มีความสามารถพูดโน้มน้าวให้ทำตาม ในสิ่งที่ดีมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ กัลยาณมิตรจึงควรศึกษาหลักจิตวิทยา ในการเข้าถึงจิตใจของบุคคลต่างๆ
หาโอกาสฝึกพูด ให้เหตุให้ผล ให้เหมาะสมกับบุคคลและโอกาส เพราะกัลยาณมิตรต้องพบปะกับบุคคลทุกเพศ วัย หลายฐานะ กัลยาณมิตรต้องให้คำแนะนำปรึกษาที่ดีที่ควร อย่าให้ผู้ที่มาพบเราต้องจากไปด้วยความผิดหวัง
5. อดทนต่อถ้อยคำ
เป็นบุคคลที่พร้อมจะรับฟังคำปรึกษาซักถามอยู่เสมอ อดทนฟังได้แม้เรื่องไร้สาระ ไม่เบื่อหน่าย ไม่รำคาญ เราจึงต้องอดทนให้อภัย รักษาอารมณ์ให้เยือกเย็นอยู่เสมอ
6. แถลงเรื่องที่ลึกล้ำได้
เป็นบุคคลที่สามารถนำเรื่องที่ยกมาอธิบายให้เกิดภาพพจน์เข้าใจง่าย แม้เรื่องราวที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับหัวข้อธรรมะที่ยากๆ ก็สามารถหาเรื่องอุปมาอุปมัยให้เข้าใจอย่างง่าย
7. ไม่ชักนำไปในสิ่งที่เสื่อม
เป็นบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในธรรม ไม่ยอมทำเรื่องที่เป็นการเสื่อมเสีย พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ไม่มีเบื้องหน้า ไม่มีเบื้องหลัง ทุกกิจกรรมของกัลยาณมิตรต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง ใสสะอาด พร้อมที่จะประกาศให้ชาวโลกรับรู้ และท้าทายให้มาพิสูจน์ได้เสมอ

การทำหน้าที่กัลยาณมิตรของอุปติสสะ

สมัยหนึ่ง มีนักบวชชื่อสญชัยปริพาชกอาศัยอยู่ในพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ซึ่งเป็นศิษย์ จำนวน ๒๕๐ คน ครั้งนั้น พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ เมื่อยังไม่ได้บวชในพระพุทธศาสนา ท่านมีนามเดิมว่าอุปติสสะและโกลิตะ ได้ศึกษาและประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพาชกท่านนี้ ท่านทั้งสองได้ทำกติกากันไว้ว่า ผู้ใดบรรลุอมตธรรมก่อน ก็ขอให้ผู้นั้นได้บอกอมตธรรมแก่อีกคนหนึ่งด้วย

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การหลุดพ้นคืออะไร



การหลุดพ้นคืออะไร


การหลุดพ้น ในทางพระพุทธศาสนานั้น

คือ การพ้นจากทุกข์ พ้นจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน

พ้นออกไปจากการเวียนว่ายตายเกิด



วิธีทำให้หลุดพ้น


วิธีที่จะทำให้หลุดพ้นได้นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า

คือการดำเนินตามองค์มรรคแปด

คือ

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ

สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ


องค์มรรคแปดนี้ คือ ธรรมที่เป็นเหตุแห่งการฆ่ากิเลส

และเข้าถึงพระนิพพาน



องค์มรรคแปด


องค์มรรคแปด กล่าวโดยละเอียดคือ


(
๑)

สัมมาทิฏฐิ

การเห็นแจ้งในอริยสัจจ์ ๔ โดยกิจทั้ง ๔

ก.

การเห็นแจ้งในทุกสัจจะโดยปริญญากิจ

(
คือ โดยการกำหนดรู้ทุกข์)

ข.

การเห็นแจ้งในสมุทยสัจจะโดยปหานกิจ

(
คือ โดยการละหรือการประหารเหตุให้เกิดทุกข์)

ค.

การเห็นแจ้งในนิโรธสัจจะโดยสัจฉิกรณกิจ

(
คือ โดยการกระทำพระนิพพานให้แจ้ง)

ง.

การเห็นแจ้งในมรรคสัจจะโดยภาวนากิจ

(
คือ โดยการกระทำให้องค์มรรคแปดมีขึ้น เกิดขึ้น)


(
๒)

สัมมาสังกัปปะ

ก. ความดำริที่ออกจากกามคุณอารมณ์ (นิกฺขมสงฺกปฺป)

ข. ความดำริที่ประกอบด้วยเมตตา (อพฺยาปาทสงฺกปฺป)

ค. ความดำริที่ประกอบด้วยกรุณา (อวิหิงฺสาสงฺกปฺป)


(
๓)

สัมมาวาจา

การเว้นจากวจีทุจริต ๔

(
การพูดโกหก พูดหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด)

ที่ไม่เกี่ยวกับการงานอาชีพ


(
๔)

สัมมากัมมันตะ

การเว้นจากกายทุจริต ๓

(
การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม)

ที่ไม่เกี่ยวกับการงานอาชีพ


(
๕)

สัมมาอาชีวะ

การเว้นจากวจีทุจริต ๔ และกายทุจริต ๓

ที่เกี่ยวกับอาชีพ


(
๖)

สัมมาวายามะ

ความเพียรที่ดำเนินไปตามสัมมัปธานทั้ง ๔

(
สัมมัปธาน ๔ คือ

การพยายามละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

การพยายามไม่ให้อกุศลธรรมใหม่เกิด

การพยายามให้กุศลธรรมใหม่ๆ เกิด

การพยายามให้กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป)


(
๗)

สัมมาสติ

การมีสติตามสติปัฏฐานสี่


(
๘)

สัมมาสมาธิ

ความตั้งมั่นในอารมณ์วิปัสสนากรรมฐาน

(
อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานคือ รูปกับนาม)


เหล่านี้ คือเรื่องของการหลุดพ้นของสรรพสัตว์ทั่วๆ ไป


แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น ก็ต้องหลุดพ้นจากกิเลส

ด้วยทางเส้นนี้เหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น

เพราะเป็นทางสายเดียว มีอยู่ทางเดียว


เพียงแต่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นต้องกระทำมาเอง

คือต้องบ่มเพาะบารมีเพื่อการตรัสรู้เอง

และต้องตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยไม่มีใครมาสอน

ส่วนการตรัสรู้ของเหล่าพระพุทธสาวกนั้น

ต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องชี้ทาง


ในการสร้างบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น

ก็จะต้องบำเพ็ญ ทศบารมี ให้ถึงพร้อม

เหมือนกันหมดทุกพระองค์


ส่วนการแบ่งประเภทพระพุทธเจ้านั้น

ไม่เกี่ยวกับวิธีการหลุดพ้นซึ่งเหมือนๆ กันอยู่แล้ว

เรื่องประเภทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เป็นเรื่องเฉพาะของเหล่าพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ไม่สามัญแก่คนทั่วไปอื่นๆ เลย
:)


ประเภทของพระพุทธเจ้า


พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี ๓ ประเภท


(
๑)

พระปัญญาธิกพุทธเจ้า

ปัญญาธิกะ แปลว่า ผู้ยิ่งด้วยปัญญา อธิบายว่ามี

ปัญญายิ่งกว่าคุณธรรมอย่างอื่นทั้งสิ้น ส่วนคุณธรรมอย่างอื่น

เช่น สัทธา หรือวิริยะเป็นต้นก็มีอยู่พร้อมแต่น้อยกว่า หรืออ่อน

กว่าปัญญา


เรียกว่าพระปัญญาธิกพุทธเจ้านี้

สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าโดยมีปัญญานำหน้าเด่นกว่าอย่างอื่น

พระปัญญาธิกพุทธเจ้านี้

ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีนับแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรก

เป็นเวลาทั้งสิ้น ๔ อสงไขยกำไรแสนกัปป์


(
๒)

พระสัทธาธิกพุทธเจ้า

สัทธาธิกะ แปลว่า ยิ่งด้วยศรัทธา คือมีศรัทธาแก่กล้า

แข็งกว่าคุณธรรมอย่างอื่นๆ เช่น ปัญญา หรือ วิริยะ

ก็มีอยู่พร้อมมูล แต่อ่อนกว่าหรือน้อยกว่าศรัทธา


เรียกว่าพระสัทธาธิกพุทธเจ้านี้

สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าโดยมีศรัทธานำหน้าเด่นกว่าอย่างอื่น

พระสัทธาธิกพุทธเจ้านี้

ใช้เวลาในการบำเพ็ญบารมีนับแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรก

เป็นเวลาทั้งสิ้น ๘ อสงไขยกำไรแสนกัปป์


(
๓)

พระวิริยาธิกพุทธเจ้า

วิริยาธิกะ แปลว่า ผู้ยิ่งด้วยวิริยะ คือ ยิ่งด้วยความเพียร

ความกล้าหาญ พระโพธิสัตว์ประเภทนี้มีวิริยะมากกว่า

หรือ เข้มแข็งกว่าคุณธรรมหรือคุณสมบัติอย่างอื่นทั้งหมด

ส่วนคุณสมบัติอย่างอื่นๆ เช่น ปัญญาและสัทธาก็มีอยู่แต่

น้อยกว่า หรืออ่อนกว่า